ประชุมเตรียมความพร้อมและรับฟังแนวทางการพัฒนาในระดับจังหวัด

มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จัดประชุมเตรียมความพร้อมและรับฟังแนวทางการพัฒนาในระดับจังหวัด หลังค้นพบ “น้ำผึ้งชันโรงมรกต” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ได้

(10 ส.ค.66) นายปรีชา นวลน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานเปิดการประชุมเตรียมความพร้อมและรับฟังแนวทางการพัฒนาในระดับจังหวัด ที่ห้องประชุม ดร.จงรัก พลาศัย ชั้น 3 สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) อำเภอเมืองนราธิวาส เพื่อหารือแนวทางอันจะเป็นประโยชน์ที่สามารถนำมาพัฒนา ปรับปรุง ทั้งด้านวางแผนงานและการปฏิบัติงาน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาในระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา สะแลแม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวต้อนรับ ดร.อโศก พลบำรุง รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา สะแลแม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยฯ มีพันธกิจด้านการวิจัยและบริการวิชาการ วิชาชีพ เพื่อมุ่งเน้นในการพัฒนาคนและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้นสอดคล้องกับพันธกิจของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจากรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย พบว่า จังหวัดนราธิวาส ติด 1 ใน 5 อันดับจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในปี 2564 มหาวิทยาลัยฯ จึงได้รับการจัดสรรทุนจาก บพท. เพื่อนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาพัฒนาคนในจังหวัด มีพื้นที่ดำเนินการนำร่อง 3 พื้นที่ คือ อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอสุคิริน และอำเภอสุไหงปาดี

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ พลาศัย ในนามหัวหน้าโครงการวิจัย โครงการขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยการเพิ่มโอกาสและลดช่องว่างของการเข้าถึงการพัฒนาอาชีพ การศึกษาเรียนรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมนราธิวาส กล่าวว่า ความสำเร็จจากการดำเนินโครงการของแต่ละพื้นที่ใน 3 อำเภอ โดยเฉพาะอำเภอสุไหงปาดี ทำให้ในปี 2565 นำไปสู่การช่วยเหลือส่งต่อนวัตกรรมแก้จนที่สอดคล้องกับบริบทของคนจนในพื้นที่เป้าหมาย โดยแบ่งตามทักษะอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ ได้ 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแปรรูป กลุ่มเกษตรกรรม และกลุ่มแพลตฟอร์มสร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งสามารถส่งต่อความช่วยเหลือตรงตามเป้าหมายที่วางไว้

อีกทั้งในปี 2565 นั้นคณะทำงานยังได้ข้อค้นพบใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ และมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ได้ คือ น้ำผึ้งชันโรงมรกต ซึ่งมีสีเหลืองใส มีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญกว่า 200 ชนิด โดยเฉพาะสารกุล่มต้านมะเร็งและสารยับยั้งการเกิดอัลไซเมอร์ ทั้งนี้การค้นพบนับเป็นโอกาสที่ดีของชาวนราธิวาส ที่มีทรัพยากรในพื้นที่ที่ทรงคุณค่า และเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ชาวนราธิวาสมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคต

สำหรับการจัดประชุมฯ ได้จัดให้มีการเสวนาบทบาทและความต้องการของท้องถิ่นต่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอสุไหงโก-ลก//การเสวนาบทบาทการดำเนินงานที่ผ่านมาด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยผู้แทนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยวิทยาเขตสงขลา และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ นอกจากนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศอ.บต. ให้เกียรติบรรยายพิเศษด้วย

    SHARE