ประวัติมหาวิทยาลัย

ในคณะรัฐมนตรี การประชุมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 ได้อนุมัติในหลักการให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดนครพนม โดยการหลอมรวมสถาบันการศึกษาที่มีอยู่แล้วในจังหวัด เพื่อจะได้ใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการลงทุนน้อยที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ โดยไม่ขัดต่อปรัชญาการศึกษาและภารกิจของสถาบันการศึกษาเดิม การบริหารการจัดการ และการดำเนินการมีความสอดคล้อง และเหมาะสมกับสภาวการณ์ของประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดนครพนม เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นรอยต่อออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดนครพนม  นอกจากจะเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้กับประชาชนในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียงพร้อมทั้งยังมีโอกาสที่จะรองรับการศึกษาต่อ และการให้บริการทางการอุดมศึกษาของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย

2548 – ป้ายแห่งความทรงจำ

2549 – การได้มาซึ่งตราสัญลักษณ์

คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เข้าเฝ้า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อกราบทูลเกี่ยวกับการดำเนินงาน ของมหาวิทยาลัยฯ และขอพระราชทานตราสัญลักษณ์อักษรพระนามเป็นตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2549 ณ ศาลาทรงงาน 1 พระตำหนักเลอดิส

2548 – อธิการบดีคนแรก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จงรัก พลาศัย อธิการบดีคนแรก ผู้ที่จะต้องเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะจากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ประกาศในราชกิจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 โดยมีผลบังคับใช้ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2548 ให้หลอมรวมกิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณรายได้ หนี้สิน และบุคลากรของสถาบันการศึกษา เข้าด้วยกัน ความมุ่งมั่นและความตั้งใจที่จะหาพื้นที่ก่อสร้างอาคารต่างๆ ให้เป็นอาณาจักรแห่ง การศึกษา ของจังหวัดนราธิวาส มีอย่างแรงกล้า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ได้สร้าง อาณาจักรแห่งการศึกษาซึ่งเป็นภูมิสถานแห่งความรู้ ความคิด จิตสำนึก และภูมิปัญญาของสังคม เป็นสถาบันการศึกษาที่พร้อมจะบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม และพร้อมจะเป็นทรัพยากรบุคคลอันมีค่าของสังคมไทยต่อไป

2549 – การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญในการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัย และการพัฒนาระบบการบริหารด้านกายภาพ มหาวิทยาลัยได้เร่งดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียน อาคารที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการเรียนการสอน อาคารบริการ และส่วนประกอบอื่นๆ ที่สนับสนุนการเป็นมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตลอดจนมีการวางแผนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็น รวมถึงระบบสาธารณูปโภค ในการพัฒนาการศึกษาในอนาคตต่อไป โดยได้แบ่งพื้นที่ในการดำเนินก่อสร้าง คือ พื้นที่บริเวณเขตโคกเขือ จำนวน 2 แปลง 1. เนื้อที่ 131 ไร่ 2. เนื้อที่ 156 ไร่ และ พื้นที่บริเวณบ้านบือราเปะ จำนวน 1 แปลง มีเนื้อที่ 212 ไร่ ต่อมา ในปี พ.ศ. 2550 ทางมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เร่งดำเนินการจัดทำ “ผังแม่บทมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์” เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาด้านกายภาพ พัฒนาทางวิชาการ และเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของฐานข้อมูล วิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์ประยุกต์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สามารถสนับสนุนกระบวนการ การเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการต่อไป

2551 – ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานใน พิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ณ พื้นที่ศูนย์ราชการใหม่ (บือราเป๊ะ) เมื่อวันที่ วันที่ 22 กันยายน 2551

2551 – พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก

ครั้นเมื่อมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ดำเนินการจัดการศึกษาขั้นอุดมศึกษา และได้จัดการเรียนการสอนรวมทั้งผลิตบัณฑิตแล้ว มหาวิทยาลัยจึงได้กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันอังคารที่ 23 กันยายน 2551 ณ หอประชุมคณะพยาบาลศาสตร์ (วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนราธิวาส-เดิม) มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ซึ่งนับได้ว่าเป็น “พิธีพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกของจังหวัดนราธิวาส

2558 – พิธีเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ

วันที่ 21 ก.ย. 58 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปยังแท่นทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้าย อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จากนั้นเสด็จทรงปลูกต้นพิกุล สำหรับอาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งอยู่ศูนย์ราชการใหม่ ก่อสร้างในปี พ.ศ.2553 และดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2557 โดยมีชื่อเดิมว่าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชครินทร์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 11,489 ตารางเมตร สามารถจุคนได้ประมาณ 3,000 คน เป็นอาคารรูปทรงสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภาคใต้ศิลปะมาลายู และผสมผสานกลมกลืนกับการออกแบบอาคารสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว ใช้เป็นสถานที่จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และประกอบกิจกรรมที่สำคัญของมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

2559 – พิธีเปิดโรงพยาบาลกัลยาณิวัฒนาการุณย์

เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดแพรคลุมป้ายโรงพยาบาลกัลยาณิวัฒนาการุณย์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 2553 สังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกประสบการณ์ทางการแพทย์ ให้ได้บัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถตามเกณฑ์ของแพทยสภา และให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแก่นักศึกษา บุคลากร และประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดิมชื่อโรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ต่อมาได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “โรงพยาบาลกัลยาณิวัฒนาการุณย์” เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 12 ชั้น มีเตียงสามัญ 20 เตียง เตียงพิเศษ 4 เตียง เปิดให้บริการสุขภาพแผนกผู้ป่วยนอก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2557 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 87 พรรษา และคาดว่าในปี 2562 จะเปิดให้บริการแผนกผู้ป่วยในได้

2559 – พิธีเปิดอนุสาวรีย์

วันที่ 21 ก.ย. 2559 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จัดสร้างขึ้นด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อมหาวิทยาลัย ทั้งด้านการศึกษา การแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุข ออกแบบโดยกรมศิลปากร เป็นพระอนุสาวรีย์ประทับนั่งพระเก้าอี้ ขนาดสูง 1.2 เมตร กว้าง 0.85 เมตร พร้อมมีการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบให้มีความสวยงาม

ปัจจุบัน

อาณาจักรแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นภูมิสถานแห่งความรู้ ความคิด จิตสำนึก และภูมิปัญญาแห่งมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์