กิจกรรม “โครงการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง”

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จัดโครงการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง เน้นส่งเสริมให้ผู้สูงอายุหรือผู้เกษียณได้รับโอกาสและสร้างแรงจูงใจให้เข้าสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตและพัฒนาศักยภาพในการทำงานเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้กำหนดจัดกิจกรรม “โครงการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างและพัฒนาโรงเรียนผู้สูงวัยในรูปแบบ Digital Education & On the Job Coaching และ Model กระบวนการจัดการความรู้จากการวิจัยมาเพื่อเพิ่มทักษะและรองรับวิถีชีวิตใหม่และนำหลักสูตรการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพในโรงเรียนผู้สูงวัย Online & Onsite โดย Senior Trainer และ Reskill & Upskill ในทักษะที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย เพื่อรองรับวิถี ชีวิตใหม่ โดยโครงการดังกล่าว มีระยะเวลาในการดำเนินการ 1 ปี เป็นกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 10,000 คน

สำหรับ “โครงการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” จัดขึ้นในวันพฤหัสบดี ที่ 9 มิถุนายน 2565 เวลา 17.30 – 20.00 น. ณ ลานสะพานนริศ เขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งภายในงานมีกิจกรรม อาทิเช่น พิธีเปิดโครงการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง , พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานวิจัยแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี , กิจกรรมร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผ่านกิจกรรมเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.มนัสวิน นันทเสน (ติ๊ก ชิโร่ นักร้องนักแสดง)
สำหรับโครงการ “โครงการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” เป็นหนึ่งในประเด็นของนโยบายการวางแผนเชิงรุกในระยะสั้น (Quick Wins) สนับสนุนการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุหรือผู้เกษียณได้รับโอกาสและสร้างแรงจูงใจให้เข้าสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตและพัฒนาศักยภาพในการทำงาน เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในภาครัฐและภาคเอกชน หรือเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม สามารถพึ่งพาตนเองได้และไม่เป็นภาระของครอบครัวหรือภาครัฐ โดยผู้เกษียณที่ดูแลตัวเองได้ สามารถทำงานได้ และมีทักษะเฉพาะทางที่ต้องใช้ประสบการณ์สูงในการทำงานเฉพาะด้าน ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับคนรุ่นถัดไป เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
SHARE
Anupama