การแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงของยางพาราในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ขณะนี้สถานการณ์ในพื้นที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะ จ.นราธิวาสที่โรคใบร่วงยางพาราระบาดหนัก กว่า 80 % ของพื้นที่ทั้งหมด ทำให้ชาวสวนยางพารายังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ดังนั้น มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดย คณะเกษตรศาสตร์ จึงได้ศึกษาวิจัยเรื่องการแก้ไขปัญหา โรคใบร่วงของยางพาราในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น โดยได้ดำเนินการศึกษาเชื้อสาเหตุ การควบคุมเชื้อ ในห้องปฏิบัติการ พร้อมทั้งศึกษาพันธุ์ยางพาราที่ต้านทานโรคใบร่วงยางพารา รวมถึงการดูแลบำรุงรักษา ต้นยางพาราก่อน – หลังการติดเชื้อ เพื่อให้การเติบโตของต้นยางพารา มีความสมบูรณ์มีผลผลิตที่ดีมากยิ่งขึ้น

งานวิจัยที่กำลังดำเนินการ

1. การศึกษาสาเหตุใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา และการประเมินการเกิดโรคของสายพันธุ์ยางพารา (โดยได้รับการสนับสนุนงานวิจัยจากการยางแห่งประเทศไทย)

2. การศึกษาการป้องกันและฟื้นฟูยางพาราจากโรคใบร่วงชนิดใหม่ (โดยทำแปลงสาธิตที่แปลงยางพาราของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์) ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส บ้านป่าไผ่ อ.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส

การศึกษาสาเหตุใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา

การทดสอบการแยกเชื้อราสาเหตุเบื้องต้นพบเชื้อรา 2 ชนิด คือ

Pestalotiopsis sp.

Colletotrichum sp.

เนื่องจากโรคนี้เป็นกับยางพาราต้นโต วิธีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดที่มีประสิทธิภาพยังมีข้อจำกัด ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุด คือการป้องกันและการฟื้นฟูต้นยางพาราโดยใช้ปุ๋ยเคมี การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือการใช้สารชีวภัณฑ์ เพื่อให้ต้นยางสมบูรณ์แข็งแรง เพื่อเป็นแปลงสาธิต และเผยแพร่ให้เกษตรกรต่อไป

    SHARE